การเปรียบเทียบประสิทธิผลของตำรับน้ำมันมหาจักรกับ 1% ไดโคลฟีแนคเจล ลดอาการปวดในผู้ป่วยโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 หลัง

Main Article Content

โชติกา แหร่มบรรเทิง
ศุภะลักษณ์ ฟักคำ
ธารา ชินะกาญจน์
ธนวรรษ อิ่มสมบูรณ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของตำรับน้ำมันมหาจักรกับ       1% ไดโคลฟีแนคเจล ลดอาการปวดในผู้ป่วยโรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ 4 หลัง ชนิด 2 กลุ่ม เก็บข้อมูลก่อนและ    หลังการทดลอง มีการปกปิดทางเดียว โดยปกปิดอาสาสมัคร จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 60 คน อายุ 16 – 55 ปี  กลุ่มทดลองได้รับน้ำมันมหาจักร จำนวน 30 คน และกลุ่มเปรียบเทียบได้รับ 1% ไดโคลฟีแนคเจล จำนวน 30 คน  ใช้ทากล้ามเนื้อบ่าและต้นคอครั้งละ 2 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ต่อเนื่อง 7 วัน ประเมินระดับอาการปวดกล้ามเนื้อ ประเมินการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบ่าและต้นคอ และประเมินความทนต่อแรงกดเจ็บ โดยเปรียบเทียบทั้งก่อนและหลังการทายา ผลการศึกษาพบว่า ทั้งกลุ่มน้ำมันมหาจักร และกลุ่ม 1% ไดโคลฟีแนคเจล มีระดับความปวดลดลงจากก่อนได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) องศาการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อคอ และบ่า พบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันมหาจักรมีองศาการเคลื่อนไหวมากขึ้น ทั้ง 4 ท่า คือ ท่าก้มหน้า ท่าเงยหน้า ท่าเอียงหูชิดไหล่ซ้าย และท่าเอียงหูชิดไหล่ขวาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนกลุ่มได้รับ 1% ไดโคลฟีแนคเจล มีองศาการเคลื่อนไหวมากขึ้น 2 ท่า คือ ท่าก้มหน้า และท่าเอียงหูชิดไหล่ขวาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) การทดสอบความทนต่อแรงกดเจ็บบ่าซ้ายและขวา ทั้งสองกลุ่มมีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จึงสรุปได้ว่า การใช้น้ำมันมหาจักร ขนาด 6 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน สามารถลดอาการปวด เพิ่มองศาการเคลื่อนไหวคอ และคลายกล้ามเนื้อบ่าและต้นคอได้ดีกว่า 1% ไดโคลฟีแนคเจล

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ