การตรวจสอบมาตรฐานพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยาที่ดี กรณีศึกษาเมล็ดชุมเห็ดไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
ปัจจุบันประชาชนนิยมดูแลรักษาสุขภาพตนเองด้วยยาสมุนไพรมากขึ้น แต่การเลือกใช้พืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยาที่ดียังขาดวิธีการตรวจสอบ เป็นเหตุให้พืชสมุนไพรที่นำมาใช้ปรุงยาไม่ออกฤทธิ์ตามเจตนาที่นำมาใช้ในการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการตรวจสอบพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยาทางการแพทย์แผนไทย ที่ดีโดยใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยใช้เป็นยาเสริมการนอนหลับซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพของคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้นการตรวจสอบเมล็ดชุมเห็ดไทยจะทำให้สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีฤทธิ์ยาที่ดีโดยมีวิธีการวิจัย คือ 1) การตรวจสอบลักษณะทางกายภาพด้วยแพทย์แผนไทย ได้แก่ สี กลิ่นและรส 2) การตรวจสอบเอกลักษณ์ทางเคมีโดยเทคนิคโครมาโทกราฟีแบบบาง โดยการเปรียบเทียบระหว่างเมล็ดชุมเห็ดไทยที่วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกใช้เป็นยาที่ดีกับเมล็ดชุมเห็ดไทยตัวอย่าง
ผลการศึกษาพบว่า เมล็ดชุมเห็ดไทยตัวอย่างมีลักษณะสัณฐานวิทยา สี กลิ่น รส ที่ตรงกับเมล็ดชุมเห็ดไทยที่ใช้ปรุงยารักษาโรค เมื่อตรวจสอบเอกลักษณ์ทางเคมีเปรียบเทียบเมล็ดชุมเห็ดไทยตัวอย่างกับเมล็ดชุมเห็ดไทยที่ใช้เป็นยาพบว่า โครมาโทแกรมภายใต้แสงขาว แสงยูวี 254 นาโนเมตร และแสงยูวี 366 นาโนเมตร มีค่า Rf ตรงหรือใกล้เคียงกันทั้งหมด 7, 17, 16 แถบ ตามลำดับ ผลการศึกษานี้เป็นการแสวงหาวิธีตรวจสอบสายพันธุ์พืชสมุนไพรซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาวิธีตรวจสอบพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เพื่อให้แพทย์แผนไทยสามารถนำไปใช้ในการปรุงยาที่ดีให้กับผู้ป่วยได้