การศึกษาวิธีการปลูกขอบชะนางแดงเพื่อลดการปนเปื้อนและการประหยัดพื้นที่

Main Article Content

พรพรรณ ก้อใจ
นคร จันต๊ะวงษ์
ทวีศักดิ์ หลีแก้วสาย

บทคัดย่อ

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบสมุนไพร เนื่องจากพื้นที่การเกษตรปนเปื้อนสารเคมีและมลพิษ ส่งผลให้วัตถุดิบมีคุณภาพต่ำและเกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางในการเพาะปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่จำกัดที่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้ โดยการควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตของสมุนไพร ผลการศึกษาพบว่า ขอบชะนางแดงเป็นพืชประเภทล้มลุกขนาดเล็กที่สามารถเพาะปลูกได้ 2 รูปแบบในพื้นที่จำกัด ได้แก่ การปลูกแบบกระบะและแบบชั้น โดยการปลูกทั้ง 2 รูปแบบใช้พื้นที่รูปแบบละ 1X1.5 เมตร สามารถควบคุมการปนเปื้อนสารเคมีได้โดยการใช้ดินปรุงที่มีส่วนประกอบของดิน ทรายและขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 2:1:1 และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีส่วนประกอบของใบไม้แห้ง มูลวัวและ จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM)เจือจางในอัตราส่วน 1:1:1 ร่วมกับการรดน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของพืช เมื่อครบเวลา 4 เดือนสามารถเก็บเกี่ยวขอบชะนางแดงทั้งต้นไปใช้ในการปรุงยารักษาโรคต่างๆ ได้ โดยการปลูกแบบกระบะและแบบชั้นให้ผลผลิตจำนวน 3.43 และ 4.12 กิโลกรัม ตามลำดับ การประเมินคุณภาพทางกายภาพและการปนเปื้อนพบว่า ขอบชะนางแดงที่ทำการเพาะปลูกแบบกระบะและแบบชั้นมีลักษณะสัณฐานวิทยา สี กลิ่น รสและการพิสูจน์เอกลักษณ์โดยเทคนิคโครมาโตกราฟีผิวบางตรงกับขอบชะนางแดงมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบว่าการปนเปื้อนของโลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ของขอบชะนางแดงไม่เกินค่ามาตรฐานที่อนุญาตโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด

Article Details

How to Cite
1.
บท
นิพนธ์ต้นฉบับ