ผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ใช้อินซูลิน

ผู้แต่ง

  • กฤตกร หมั่นสระเกษ
  • ทัศนีย์ รวิวรกุล
  • สุนีย์ ละกำปั่น

คำสำคัญ:

โปรแกรมการจัดการตนเอง, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, การใช้อินซูลิน

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบมีกลุ่มเปรียบเทียบ วัดผลก่อนและหลังการทดลอง  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ใช้อินซูลิน กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ใช้อินซูลิน อายุ 35-59 ปีที่  รับบริการที่คลินิกโรคเรื้อรังโรงพยาบาลพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 59 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบ 29 ราย โดยประยุกต์ในแนวคิดการจัดการตนเองในการออกแบบโปรแกรม ระยะเวลา 6 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการตอบแบบสอบถามพฤติกรรมการจัดการตนเองในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Paired t-test และ Independent t-test ผลการวิจัย พบว่าหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการจัดการตนเอง (M = 90.6, SD = 7.0) เพิ่มขึ้นกว่าก่อนการทดลอง (M = 83.37, SD = 9.14) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p < .05 (t =-9.005, df = 29) และเมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .05) ในด้านของระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting blood sugar) พบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบมีระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังการทดลองทั้งในกลุ่มเดียวกัน (p-value =.124 และ .909 ตามลำดับ) และระหว่างกลุ่ม (p-value = .146) ไม่แตกต่างกันที่ p < .05 และเทียบระหว่างกลุ่มระยะหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน การศึกษาในครั้งนี้ พบว่า การส่งเสริมการจัดการตนเองที่มีการติดตามช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น และอาจเพิ่มประเด็นความรอบรู้ทางด้านสุขภาพเรื่องการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายในการวิจัยครั้งต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-30