ผลของโปรแกรมกลุ่มจิตบำบัดประคับประคองของยาลอม (Yalom) ต่อความหวังในผู้ป่วยจิตเภท

ผู้แต่ง

  • ลานทิพย์ พนารินทร์
  • ภรภัทร เฮงอุดมทรัพย์
  • ดวงใจ วัฒนสินธุ์
  • เวทิส ประทุมศรี

คำสำคัญ:

ความหวัง, กลุ่มจิตบำบัดประคับประคอง, ผู้ป่วยจิตเภท

บทคัดย่อ

ความหวังช่วยให้ผู้ป่วยจิตเภทสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีเป้าหมาย มีกำลังใจที่เข้มแข็ง สามารถเผชิญปัญหาและปรับตัวอยู่ในสังคมได้ การวิจัยแบบกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมกลุ่มจิตบำบัดประคับประคองของ Yalom ต่อความหวังในผู้ป่วยจิตเภท กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเภทจำนวน 24 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 12 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมกลุ่มจิตบำบัดประคับประคองของ Yalom เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 60-90 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับดูแลตามปกติ ประเมินความหวังในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและระยะติดตามผล 1 เดือน โดยใช้แบบวัดความหวัง (Herth Hope Index) ที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .81 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ และการทดสอบรายคู่ด้วยวิธีบอนเฟอร์โรนี ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยความหวังในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและระยะติดตามผลของกลุ่มทดลองแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, F(1, 22) = 8514.37, p < .001 โดยในกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความหวังในระยะก่อนการทดลอง (M = 32.17, SD = 1.75) แตกต่างจากในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันที (M = 38.33, SD = 1.37) และระยะติดตามผล 1 เดือน (M = 40.67, SD = 1.78) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, F(2, 22) = 150.74, p < . 001ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมกลุ่มจิตบำบัดประคับประคองของ Yalom นี้ช่วยเพิ่มความหวังในผู้ป่วยจิตเภท ดังนั้นพยาบาลหรือบุคลากรทางด้านสุขภาพสามารถศึกษาและนำโปรแกรมฯนี้ ไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างความหวังในผู้ป่วยจิตเภทต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30