บทบาทพยาบาล ในการประเมิน ป้องกัน และลดความรุนแรงของภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด

ผู้แต่ง

  • ภัทริกา ปัญญา

คำสำคัญ:

ภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ, โรคมะเร็ง, ยาเคมีบำบัด, การพยาบาล

บทคัดย่อ

ภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดเป็นอาการข้างเคียงสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และส่งผลต่อแผนการรักษาที่ผู้ป่วยควรได้รับ เช่น ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดที่มีความเข้มข้นลดลง มีแนวโน้มรับการรักษาไม่ต่อเนื่องหรืออาจเกิดการติดเชื้อภายในช่องปากรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนพยาธิสรีรวิทยาของการเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ ผลกระทบ และวิธีการให้การพยาบาล ประกอบด้วย การประเมินภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ และการพยาบาลเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้แต่งได้ทบทวนงานวิจัยเชิงทดลองและบทความวิชาการโดยกำหนดขอบเขตในการสืบค้นด้วย PICO (Population, Intervention, Comparison, and Outcomes) ผลการทบทวนพบว่าอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบแบ่งออกเป็น 5 ระยะ เริ่มตั้งแต่ระยะก่อนรับยาจนถึงระยะหลังการรับยาเคมีบำบัด การประเมินภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบสามารถใช้เครื่องมือประเมินที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ใช้และผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ ได้แก่ การดูแลช่องปากและฟัน การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การอมน้ำแข็ง การบ้วนปากด้วยน้ำมะพร้าวบริสุทธิ์ เป็นต้น การดูแลเพื่อลดความรุนแรงของอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ เช่น การให้ยาบรรเทาปวด การให้สารน้ำสารอาหารอย่างเพียงพอและการดูแลด้านจิตใจ เป็นต้น พยาบาลซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสุขภาพที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุดสามารถให้การดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพของการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดี

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30