การศึกษาการปฏิบัติจริง ปัญหาและอุปสรรคในการออกกำลังกาย และการทำกายภาพบำบัดเองที่บ้านของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

Main Article Content

ทิพยรัตน์ ศฤงคารินกุล
ลาวัลย์ พานิชเจริญ

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาดูการปฏิบัติจริง รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการออกกำลังกายและ การทำกายภาพบำบัดเองที่บ้านของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และ/หรือผู้ดูแล
รูปแบบการวิจัย: การศึกษาเชิงพรรณนา
สถานที่ทำการวิจัย: สถาบันประสาทวิทยา
กลุ่มประชากร: ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีกที่เข้ารับการรักษาในสถาบันประสาทวิทยา จำนวน 50 ราย
วิธีการศึกษา: เก็บข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยและผู้ดูแลก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วย และผู้ดูแลจะได้รับการสอนและได้รับแจกเอกสารการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัดเองที่บ้าน รวมทั้งผู้ป่วยจะได้รับการประเมินคะแนน Barthel Index, ติดตามผลหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล 1 เดือน โดยประเมินคะแนน Barthel Index ซ้ำ และประเมินภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยจากภาวะอัมพาตในผู้ป่วย และ/หรือผู้ดูแล ได้รับการตรวจความถูกต้องในการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัดตามโปรแกรมที่ได้สอนไป และตอบแบบสอบถามการปฏิบัติจริง รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำกายภาพบำบัดเองที่บ้าน
ผลการศึกษา: จากการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนน Barthel Index ของผู้ป่วยที่ได้รับการสอน การออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัดเองที่บ้านก่อนจำหน่ายและหลังจำหน่าย 1 เดือน พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (95%CI -22.89 to -14.52; p < .005) เมื่อติดตามผลที่ 1 เดือนหลังจำหน่าย ผู้ป่วย/ผู้ดูแลกว่า 80% ทำได้ถูกต้องตามทีได้รับการสอนและทำสม่ำเสมอคือ ทำวันละ 2 ครั้ง หรือ มากกว่าและทำทุกวัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบมากที่สุด ได้แก่ ภาวะเจ็บหัวไหล่ข้าง ที่มีอาการอ่อนแรง เป็นจำนวน 58% สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบบ่อยที่สุด คือ เมื่อออกกำลังกายและกายภาพบำบัดทำให้ไม่สบายร่างกาย เช่น มีอาการ ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ
สรุป: ในการศึกษานี้ผู้ป่วย/ผู้ดูแลโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการสอนการออกกำลังกาย และทำกายภาพบำบัดเองที่บ้านมีการปฏิบัติจริงได้ค่อนข้างถูกต้องและสม่ำเสมอ หลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล 1 เดือน สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบบ่อย คือ เมื่อทำแล้วมีอาการไม่สบายร่ายกาย เช่น ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ
คำสำคัญ: การปฏิบัติจริง ปัญหา อุปสรรค การออกกำลังกายและทำกายภาพบำบัดเอง ที่บ้าน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ

References

กระทรวงสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์. สถิติสาธารณสุข ปี 2550. [22 กุมภาพันธ์ 2553] Available from : URL: https://bps.ops.moph.go.th/Healthinformation/index2.html

Kuptniratsaikul V, Kovindha A Massakulpan P, Piravej K, Suethanapomkul S, Dajpratham P, et al. An Epidemiologic study of the Thai stroke rehabilitation Registry: A multi-center study. J Med Assoc Thai 2008; 91(2): 225-33.

ปิยภัทร เดชพระธรรม, รัตนา มีนะพันธ์. ความน่าเชื่อถือของแบบประเมินบาร์เธลฉบับภาษาไทย ในผู้ป่วยโรคอัมพาตหลอดเลือดสมอง. เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร 2006:16(1): 1-8

กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ สถาบัน ประสาท. คู่มือโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต อัมพฤกษ์) สำหรับประชาชน. ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สถาบันประสาท; 2550.

Daniela DG, Marcos AM, Carla HD. Pain severity in patients with painful shoulder. ACTA ORTOP BRAS 2008; 16(3):165-7.

Lindgren I, Jbnsson AC, Norrving B, Lindgren A. Shoulder Pain After Stroke; A Prospective Population-Based Study. Stroke 2007; 38: 343-8.

Sandra FB. The assessment of patient adherence to physiotherapy rehabilitation. NZ Journal of Physiotherapy 2003 ; 31(2): 60-6.

David YU. Shoulder pain in hemiplegia. Phys Med Rehabil Clin N AM 2004; 15(2): 683-97.

Goldstein B. Shoulder anatomy and biomechanics. Phys Med Rehabil Clin N AM 2004; 15(1): 313-49

Galvin R Cusack T, Stokes E. A randomised controlled trial evaluating family mediated exercise (FAME) therapy following stroke. BMC Neurology 2008 ; 8:22.

James HR Edward W, Donald S. Barriers associated with exercise and community access for individuals with stroke. JRRD 2008; 45: 315-22.

Kristin DH, Cherie R, Lyan BE. Effect of Number of Home Exercises on Compliance and Performance in Adults Over 65 Years of Age. Physical Therapy 1998; 78(3): 270-7.

Emmy MS, Gerjo JK, Jouke VZ. Correlates of exercise compliance on physical therapy. Physical Therapy 1993; 73(11): 771-86.