ปัจจัยที่มีผลต่อความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

Main Article Content

ฉลองชัย ทุนดี

บทคัดย่อ

หลักการและเหตุผล: โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มีสาเหตุเกิดจากมีการอุดตันด้วยลิ่มเลือดในหลอดเลือดหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอย่างเฉียบพลัน และเป็นโรคที่ยังมีอัตราตายสูง การรักษาโดยการช่วยเปิดเส้นเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจที่อุดตันภายในระยะเวลาที่เหมาะสม จะสามารถลดอัตราตายได้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายในการดูแลโรคหัวใจและหลอดเลือดให้ลดอัตราการตายในผู้ป่วยโรคหัวใจตายเฉียบพลัน และกำหนดตัวชี้วัดให้ผู้ป่วยโรคนี้เข้าถึงการรักษายังสถานบริการภายใน 3 ชั่วโมง หลังจากมีอาการ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมาพบแพทย์ยังสถานบริการล่าช้า โดยมีปัจจัยที่สัมพันธ์ที่แตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรม
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปัจจัยด้านผู้ป่วยที่มีผลต่อการมาพบแพทย์ที่ล่าช้าในโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
วิธีการศึกษา: เก็บข้อมูลย้อนหลังผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ในด้านอายุ เพศ ระดับการศึกษา การรู้จักโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ระยะที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จนกระทั่งเข้ามารับการตรวจที่โรงพยาบาลสุรินทร์หรือโรงพยาบาลอำเภอเครือข่ายในจังหวัดสุรินทร์โดยใช้ค่ากลางของระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนมาพบแพทย์เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้สถิติ logistic regression
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 52 ราย จากจำนวน 66 ราย ที่ข้อมูลครบถ้วนนำมาวิเคราะห์ พบว่าระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนมาพบแพทย์ (onset to door) เวลาเฉลี่ยโดยใช้ค่ากลาง (Median) ผู้ป่วยมาพบแพทย์คือ 120 นาที (2-1,277นาที) ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เร็วภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงคิดเป็นร้อยละ 60.6 การทราบอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่รู้จักอาการของโรคนี้ถึง 13.7 เท่า (95%CI 1.20-156.80) p = 0.04 กลุ่มที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จะลดการมาที่โรงพยาบาลล่าช้าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ถึงร้อยละ 91 (95%CI = 21- 99 %) p=0.03 นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัย ด้านอายุ เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ การเรียกรถระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่มีผลลดระยะเวลาการมาพบแพทย์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้
สรุป: การรู้จักอาการและการรู้จักโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันของผู้ป่วย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้รวดเร็วน้อยกว่า 3 ชั่วโมง โดยที่ปัจจัยด้านอายุ เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ และการเรียกรถระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่มีผลลดระยะเวลาของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่มาพบแพทย์
คำสำคัญ: ปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อระยะเวลามาโรงพยาบาล โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ

References

อมรรัตน์ ลิ้มจิตสมบูรณ์. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ผลการตรวจราชการคณะที่ 1 การส่งเสริม ป้องกันโรค และการคุ้มครอง ผู้บริโภคด้านสุขภาพ (ปีงบประมาณ 2560). เอกสาร ประกอบการประชุมสรุปผลการตรวจราชการกระทรวง สาธารณสุข ประจำปี 2560 รอบที่ 1 เขตสุขภาพที่ 9. วันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องประชุมสระโบราณ โรงพยาบาลสุรินทร์. สุรินทร์ : กลุ่มงานยุทธศาสตร์ และแผนงานโครงการ.

ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลสุรินทร์. รายงานการตรวจราชการระดับจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ.2560. เอกสารนำเสนอในที่ประชุม Service plan จังหวัดสุรินทร์ เขตสุขภาพที่ 9 ตรวจราชการ; 7-8 กุมภาพันธ์ 2560; ณ ห้องประชุมสระโบราณโรงพยาบาลสุรินทร์. สุรินทร์ : กลุ่มงานนโยบายและแผนงานโรงพยาบาลสุรินทร์; 2560.

สุวีณา เบาะเปลี่ยน, พัชราภรณ์ อุ่นเตจ๊ะ. บทบาทพยาบาลเพื่อลดการมารักษาล่าช้าของผู้ป่วยกลุ่มอาการหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน. วารสารพยาบาลทหารบก 2557;15:78-83.

McKee G, Mooney M, O'Donnell S, O'Brien F, Biddle MJ, Moser DK. Multivariate analysis of predictors of pre-hospital delay in acute coronary syndrome. Int J Cardiol 2013;168(3):2706-13.

Goldberg FU, Steg PG, Sadiq I, Granger CB, Jackson EA, Budaj A, et al. Extent of, and factors associated with, delay to hospital presentation in patients with acute coronary disease (the GRACE registry). Am J Cardiol 2002;89(7):791-6.

Albrahim M, Ahmed AM, Alwakeel A, Hijji F, Al-Mallah MH. Predictors of delayed pre-hos pital presentation among patients with ST-segment elevation myocardial infarction. Qatar Med J 2016;2016(1):7.

McDermott K, Maynard C, Trivedi R, Lowy E, Fihn S. Factors associated with presenting >12 hours after symptom onset of acute myocardial infarction among Veteran men. BMC Cardiovasc Disord 2012;12:82.

Rajagopalan RE, Chandrasekaran S, Pai M, Rajaram R, Mahendran S. Pre-hospital delay in acute myocardial infarction in an urban Indian hospital: a prospective study. Natl Med J India 2001;14(1):8-12.