ความชุกของภาวะซึมเศร้าบุคลากรโรงพยาบาล
Main Article Content
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานในเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานในโรงพยาบาลซึ่งมีลักษณะงานเป็นงานบริการที่ต้องดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นหลัก ทางโรงพยาบาลกาบเชิงจึงเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพจิตของบุคคลากรในโรงพยาบาล จึงมีการประเมินสุขภาพจิตประจำปีแก่บุคคลากร ซึ่งจากแบบประเมินสุขภาพจิตบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิง ปี พ.ศ. 2565 ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบจะเป็นปัญหาโรคซึมเศร้า ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจจัดทำการศึกษาข้อมูลจากกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด เรื่องความชุกของภาวะซึมเศร้าของบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา การป้องกันในระยะยาว และนำไปสู่การจัดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์: เพื่อหาความชุก และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดของภาวะซึมเศร้าในบุคลากรโรงพยาบาลกาบเชิง
วิธีการศึกษา: รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-Sectional Descriptive Study) เพื่อศึกษาความชุกการเกิดภาวะซึมเศร้าของบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิง คัดเลือกแบบคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง(Purposive selection) โดยเก็บข้อมูลจากเฉพาะบุคลากรโรงพยาบาลกาบเชิงเท่านั้น ที่ตอบกลับแบบประเมินสุขภาพจิตผ่านเว็บไซต์ Mental health check in ซึ่งผ่านพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ตั้งแต่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2566 ถึง 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 โดยได้รับการตอบกลับแบบสอบถาม จำนวน 137 คน เครื่องมือ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามคัดกรองพลังใจ(RQ) แบบสอบถามคัดกรองภาวะหมดไฟ(Burn OUT) แบบสอบถามคัดกรองภาวะเครียด(ST-5) แบบสอบถามคัดกรองภาวะซึมเศร้า(2Q,9Q) แบบสอบถามคัดกรองภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย(8Q) วิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนาบรรยาย โดยใช้ความถี่ ร้อยละ และใช้ fisher exact test เพื่อคำนวณหาความสัมพันธ์ของปัจจัยในการเกิดภาวะซึมเศร้าของบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิง
ผลการศึกษา: การศึกษาพบว่าบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิงมีภาวะซึมเศร้าจำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 13.1 ผลเปรียบเทียบปัจจัยสัมพันธ์ของข้อมูลทั่วไประหว่างบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิงที่มีภาวะซึมเศร้าและบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิงที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าโดยคำนวนด้วยสถิติฟิชเชอร์เอ็กแซก (Fisher’s exact) พบว่าปัจจัยด้านตำแหน่งงานมีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P-value 0.021) และปัจจัยด้านพลังใจ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ภาวะเครียด มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P-value < 0.001) ส่วนปัจจัยด้านเพศ อายุ สถานภาพสมรส กลุ่มงาน โรคประจำตัว พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: การศึกษาพบว่าบุคคลากรโรงพยาบาลกาบเชิงมีภาวะซึมเศร้าจำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 13.1 ดังนั้นจึงควรมีระบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าบุคคลากรโรงพยาบาลในทุกปี และประเมินอาการติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
กระทรวงสาธารณสุข. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2561. นนทบุรี : กระทรวงสาธารณสุข ; 2561.
คณะทำงานจัดทำแนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้า สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ. อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซ็ท ; 2563.
Kim MS, Kim T, Lee D, Yook JH, Hong YC, Lee SY, et al. Mental disorders among workers in the healthcare industry: 2014 national health insurance data. Ann Occup Environ Med 2018;30:31. doi: 10.1186/s40557-018-0244-x.
ศิริพร จอมมงคล. ระดับความเครียด และความชุกของโรคซึมเศร้าของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขุนตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย, ประเทศไทย. เชียงรายเวชสาร 2564;13(1):72-89.
อมรรัตน์ ตันติทิพย์พงศ์. การศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียดจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต. วารสารวิชาการแพทย์เขต 11 2562;33(1):203-16.
สุมณฑา น้อยบุญเติม. ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้ากับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของพยาบาลในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี. [ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต]. สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและเอกชน, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัย; กรุงเทพฯ :มหาวิทยาลัยศิลปากร ; 2556.
Mental health check in. ตรวจเช็คสุขภาพใจ. [อินเตอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2566]. ค้นได้จาก:URL:Mental Health check in ตรวจเช็คสุขภาพใจสำหรับ LQ/CI/COHORT WARD/HOSPITEL/รพ.สนาม (dmh.go.th).
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. แบบประเมินพลังใจ (RQ) ของกรมสุขภาพจิต. [อินเตอร์เน็ท]. [สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2566]. ค้นได้จาก:URL: https://dmh.go.th/download/dmhnews/kom2008-2.pdf.
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. แบบประเมินภาวะหมดไฟ (Burn OUT) ของกรมสุขภาพจิต. [อินเตอร์เน็ท]. [สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2566]. ค้นได้จาก:URL: https://mhc7.dmh.go.th/wp-content/uploads/2017/09/แบบประเมินภาวะหมดไฟ-ฉบับเผยแพร่.pdf.
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. แบบประเมินความเครียด (ST-5) ของกรมสุขภาพจิต. [อินเตอร์เน็ท]. [สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2566]. ค้นได้จาก:URL: https://env.anamai.moph.go.th/th/cms-of-87/download/?did=191892&id=37464&reload=.
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. แบบประเมินภาวะซึมเศร้า (2Q 9Q) ของกรมสุขภาพจิต และแบบประเมินภาวะฆ่าตัวตาย (8Q). [อินเตอร์เน็ท]. [สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2566]. ค้นได้จาก:URL:https://dmh.go.th/test/download/files/2Q%209Q%208Q%20(1).pdf.