ประสิทธิผลของการให้คำแนะนำจากแพทย์ในกลุ่มผู้มารับบริการตรวจสุขภาพวัยทำงานที่ ศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลบุรีรัมย์

Main Article Content

อมรา ปาปะเก
วรยศ ดาราสว่าง

บทคัดย่อ

หลักการและเหตุผล: ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พบว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับผลการดำเนินงานตรวจสุขภาพประชาชนทั่วไปของศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ในปีงบประมาณ 2564 ถึง 2566 ซึ่งพบว่าผู้มารับบริการมีภาวะเสี่ยงโรคไขมันโลหิตสูง โรคอ้วน และโรคความดันสูงเป็น 3 อันดับแรก ทางผู้วิจัยจึงสนใจที่จะสำรวจภาวะสุขภาพของประชาชนวัยทำงาน และต้องการติดตามประสิทธิผลของการให้คำแนะนำจากแพทย์ในกลุ่มผู้มารับบริการตรวจสุขภาพวัยทำงานที่ศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลบุรีรัมย์
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความชุกของภาวะสุขภาพของผู้เข้ารับบริการ อายุ 30-59 ปีที่เข้ารับการตรวจสุขภาพที่ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และติดตามประสิทธิผลของการให้คำแนะนำจากแพทย์ในกลุ่มผู้มารับบริการตรวจสุขภาพวัยทำงานที่ศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลบุรีรัมย์
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้มีกระบวนการศึกษา 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาความชุกของโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันโลหิตสูง และภาวะอ้วน เป็นค่าความชุกต่อปี (prevalent rate) และขั้นตอนที่ 2 ติดตามประสิทธิผลของการให้คำแนะนำจากแพทย์ในกลุ่มผู้มารับบริการตรวจสุขภาพวัยทำงานที่ศูนย์ตรวจสุขภาพโรงพยาบาลบุรีรัมย์ โดยใช้สถิติ Pair T-test แสดงผลเป็น Mean difference และ p-value กำหนดนัยสำคัญที่ 0.05 โดยประชากรที่ทำการศึกษา คือ ผู้เข้ารับบริการ อายุ 30-59 ปีที่เข้ารับการตรวจสุขภาพครั้งแรกที่ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2566
ผลการศึกษา: ผู้เข้ารับบริการตรวจสุขภาพ จำนวน 1,761 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 54.7 โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ช่วงอายุ 30-39 ปี มีความชุกของภาวะระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารผิดปกติอยู่ที่ร้อยละ 11.5 และผู้ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเบาหวานคิดเป็นร้อยละ 4.3 ความชุกของผู้ที่มีระดับ A1C มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 6.5 คิดเป็นร้อยละ 15.1 ความชุกของภาวะความดันโลหิตสูงคิดเป็นร้อยละ 13.7 ความชุกของผู้ที่คอเลสเตอรอลสูงคิดเป็นร้อยละ 56.6 ส่วนความชุกของผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงคิดเป็นร้อยละ 21.8 ความชุกของผู้ที่มีไขมันไม่ดีสูงคิดเป็นร้อยละ 28.9 และความชุกของภาวะอ้วนคิดเป็นร้อยละ 36.7 จากการติดตามภาวะสุขภาพหลังได้รับคำแนะนำของกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะสุขภาพที่ผิดปกติ พบว่า กลุ่มที่มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูง จำนวน 42 คน มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารก่อนและหลังได้รับคำแนะนำไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value 0.690) กลุ่มที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจำนวน 92 คน ระดับความดันตัวบนและตัวล่างก่อนและหลังได้รับคำแนะนำมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.001 และ 0.002 ตามลำดับ) กลุ่มที่มีระดับไขมันในเลือดสูง จำนวน 69 คนพบว่าระดับคอเลสเตอรอลก่อนและหลังได้รับคำแนะนำ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.001) ส่วนระดับไตรกลีเซอไรด์ และระดับไขมันไม่ดีก่อนและหลังได้รับคำแนะนำ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value 0.119 และ 0.693 ตามลำดับ) และกลุ่มที่มีภาวะอ้วน จำนวน 88 คน พบว่า ดัชนีมวลกายก่อนและหลังได้รับคำแนะนำมีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกัน และไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value 0.950)
สรุป: การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยอาศัยคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียวประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการดูแลสุขภาพ หรือมีกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ

References

สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2562. นนทบุรี : แฮนดี เพรส ; 2566.

วิชัย เอกพลากร, บรรณาธิการ. รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563. กรุงเทพมหานคร : อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์ ; 2564.

สำนักงานประกันสังคม. ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม [อินเทอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2567]. ค้นได้จาก: URL:http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER2/DRAWER056/GENERAL/DATA0000/00000533.PDF

กรมบัญชีกลาง. คู่มือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ [อินเทอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2567]. ค้นได้จาก:URL:https://www.personnel.nu.ac.th/home/images/data/file/new/advertise/2560/Medical_guide_government%20officer_CGD_2553.pdf

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566. กรุงเทพมหานคร : ศรีเมืองการพิมพ์ ; 2566.

สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ. 2562. เชียงใหม่ : ทริค ธิงค์ ; 2562.

สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติ เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. 2559. ปทุมธานี : เอ-พลัส พริ้น ; 2560.

Lee JH, Seo DH, Nam MJ, Lee GH, Yang DH, Lee MJ, et al. The Prevalence of Obesity and Metabolic Syndrome in the Korean Military Compared with the General Population. J Korean Med Sci 2018;33(25):e172. doi: 10.3346/jkms.2018.33.e172.

มงคล การุณงามพรรณ, สุดารัตน์ สุวารี, นันทนา น้ำฝน. พฤติกรรมสุขภาพและภาวะสุขภาพของคนทำงานในสถานประกอบการเขตเมืองใหญ่: กรณีศึกษาพื้นที่เขตสาทร กรุงเทพมหานคร. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ 2555;32(3):51-66.

กชพร ศรีสุวรรณ, เอกชัย ชุ่มแจ่ม, สิริพงษ์ เมืองสง, ศักร์ระภีร์ วรวัฒนะปริญญา. การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายของพนักงานในโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จังหวัดระยอง. วารสารครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 2560;5(2):28-40.

Teshome AA, Baih SZ, Wolie AK, Mengstie MA, Muche ZT, Amare SN, et al. Magnitude of impaired fasting glucose and undiagnosed diabetic mellitus and associated risk factors among adults living in Woreta town, northwest Ethiopia: a community-based cross-sectional study, 2021. BMC Endocr Disord 2022;22(1):243. doi: 10.1186/s12902-022-01156-7.

สำราญ กาศสุวรรณ, ทัศนีย์ บุญอริยเทพ, รุ่งกิจ ปินใจ. ผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยใช้กระบวนการกลุ่มในกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ตำบลร้องเข็ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่. วารสารโรงพยาบาลแพร่ 2565;30(2):27-42.

Jeong YW, Jung Y, Jeong H, Huh JH, Sung KC, Shin JH, et al. Prediction Model for Hypertension and Diabetes Mellitus Using Korean Public Health Examination Data (2002-2017). Diagnostics (Basel) 2022;12(8):1967. doi: 10.3390/diagnostics12081967.