ข้อมูลสำหรับผู้แต่ง

หลักเกณฑ์ทั่วไปและเงื่อนไข

        การส่งบทความ ให้ส่ง file ผ่านระบบจัดการวารสารของ ThaiJO (สามารถเข้าดูขั้นตอนการส่งบทความเพื่อขอตีพิมพ์ได้ที่ www.ckphosp.go.th หรือ www.tci-thaijo.org/index.php/JCP/index) วารสารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์รับบทความที่ส่งตีพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่กรณีถ้าเป็นบทความภาษาอังกฤษจะต้องมีบทคัดย่อที่เป็นภาษาไทยควบคู่ด้วยเท่านั้น

การเตรียมบทความ

การพิมพ์ต้นฉบับ ใช้กระดาษ A4 โดยใช้ตัวอักษรชนิด Angsana New ขนาด 16 เว้นระยะห่างจากขอบกระดาษ 1 นิ้วทุกด้าน และใส่เลขหน้ากำกับทุกหน้า มุมขวาบน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสื่อสารเมื่อต้องมีการแก้ไขต้นฉบับ โดยขอบด้านหลังไม่ต้องดึงแต่ละบรรทัดให้ตรงกัน

ชนิดของบทความ

  1. บทความวิจัย (Research article) ประกอบด้วย

              1.1 ชื่อเรื่อง เขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  โดยแต่ละภาษาประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้

                  1) ชื่อเรื่อง  สั้น กะทัดรัด ไม่ใช้คำย่อ ครอบคลุมสาระสำคัญของบทความทั้งหมด และชื่อเรื่องภาษาอังกฤษใช้ตัวใหญ่เฉพาะคำแรกและชื่อเฉพาะ เช่น สถาบัน

      2) ชื่อผู้นิพนธ์และผู้ร่วมนิพนธ์ เขียนชื่อ-สกุล (ผู้นิพนธ์ร่วมระหว่างชื่อให้เคาะ 1 ครั้ง) วุฒิการศึกษาแบบย่อ ระบุสาขา (ถ้ามี) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในบรรทัดถัดไปใส่สังกัดสถานที่ทำงาน โดยใส่หมายเลข (ตัวยก) ไว้หลังชื่อ-สกุล และหน้าสังกัดสถานที่ทำงาน ตามลำดับ

      3) ชื่อผู้ประสานงานหรือ Corresponding author ให้ใส่เครื่องหมาย* ท้ายชื่อ (หลังตัวยกลำดับเลข) และ มาใส่ข้อมูลบรรทัดต่อจากสถานที่ทำงานว่า * Corresponding author, e-mail :

1.2 บทคัดย่อ ต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยภาษาไทยขึ้นก่อน เนื้อหาต้องมีความสมบูรณ์ในตัวเองโดยเขียนให้ได้ใจความ มีความยาวไม่เกิน 400 คำประกอบด้วย วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการวิจัยผลการวิจัย สรุป และคำสำคัญ (3-5 คำ) โดยหัวข้อทำตัวหนา แต่เนื้อหาไม่ต้องทำตัวหนา

             1.3  เนื้อเรื่อง หัวข้อหลักควรประกอบด้วย

       - บทนำ กล่าวถึงความสำคัญขอปัญหาที่นำมาศึกษา รวมทั้งบอกวัตถุประสงค์ในการวิจัย

       - วิธีดำเนินการวิจัย บอกรูปแบบการวิจัยกลุ่มตัวอย่างและขนาด แสดงวิธีคำนวณกลุ่มตัวอย่างแบบสั้น ๆ เกณฑ์การคัดเข้าและคัดออก บอกรายละเอียดของการดำเนินการวิจัย รวมทั้งบอกรายละเอียดการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

       - ผลการวิจัย นำเสนอให้เข้าใจง่าย โดยใช้ตางรางแผนภูมิหรือรูปภาพประกอบ และชื่อกำกับมีคำอธิบายโดยสรุป โดยตารางให้มีเฉพาะเส้นแนวขวาง 3 เส้น ที่ด้านบนสุด ด้านล่างสุด และเส้นแบ่งหัวข้อตารางกับเนื้อหาเท่านั้น  รูปภาพควรเป็นรูปที่จัดทำขึ้นเอง ถ้าเป็นรูปจากแหล่งอื่น จะต้องระบุที่มา รวมทั้งเอกสารลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ต้นฉบับด้วย สำหรับผู้ป่วยต้องไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด และอาจต้องมีคำยินยอมจากผู้ป่วยด้วย

     - อภิปรายผล ให้วิจารณ์ผลงานวิจัยที่นำเสนอ สรุปผลการวิจัยทั้งหมดสั้น ๆ เปรียบเทียบผลการวิจัยกับการศึกษาอื่น ๆให้ความเห็นเกี่ยวกับการวิจัย วิจารณ์วิธีการดำเนินการวิจัย ความน่าเชื่อถือทางสถิติ ข้อจำกัดการวิจัย รวมทั้งประโยชน์ที่จะนำไปใช้ การวิจัยที่ควรพัฒนาต่อไปในอนาคต

                  - กิตติกรรมประกาศ แสดงความขอบคุณ ผู้สนับสนุน การวิจัย และผู้ให้คำแนะนำด้านต่าง ๆ

                  - เอกสารอ้างอิง ให้ใส่หมายเลข 1,2,3 ...ไว้ท้ายประโยคที่พิมพ์ตัวพิมพ์ยกสูงโดยไม่ต้องใส่วงเล็บ เอกสารที่อ้างอิงเป็นอันดับแรกให้จัดเป็นหมายเลขหนึ่ง และเรียงลำดับอันดับก่อนหลังต่อ ๆ ไป ถ้าอ้างอิงหลายเอกสารในเนื้อหาเดียวกันให้เขียนหมายเลขทุกตัวโดยใช้เครื่องหมายจุลภาคคั่น เช่น 3,4,5 และไม่ควรใช้เอกสารที่เก่าเกิน 10 ปี ยกเว้นกรณีที่เป็นเอกสารที่เป็นทฤษฎีหรือตำราบางประเภท รูปแบบการเขียนใช้ตามVancouver guideline ซึ่งกำหนดโดย International Committee of Medical Journal Editors โดยมีหลัก ดังนี้

1) ชื่อผู้เขียน

                ในบทความ ชื่อภาษาอังกฤษ ชื่อสกุล ตามด้วยอักษรตัวแรกของชื่อต้นและชื่อกลางด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ ชื่อภาษาไทย ให้เขียนชื่อเต็มทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล

                - ถ้ามี 2 คน เขียนทั้ง 2คน ใช้เครื่องหมายจุลภาคระหว่างชื่อ

                - ถ้ามีมากกว่า 2 คน ให้เขียนชื่อเดียวแล้วตามด้วย, et al. (ชื่อภาษาอังกฤษ) หรือคณะ (ชื่อภาษาไทย) 

                ท้ายบทความ ชื่อภาษาอังกฤษ ให้ใช้ชื่อสกุลตามด้วยอักษรแรกของชื่อต้นและชื่อกลางเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ชื่อภาษาไทย ให้เขียนชื่อเต็มทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล ใส่ชื่อผู้เขียนทุกคนคั่นด้วย  เครื่องหมายจุลภาค ถ้าเกิน 6 ใส่ชื่อ 6 คนแรก ตามด้วย et al. (ชื่อภาษาอังกฤษ) หรือคณะ (ชื่อภาษาไทย)  

2) อ้างอิงวารสาร

    ให้ใส่ ชื่อผู้เขียน. ชื่อเรื่อง. ชื่อย่อวารสารตาม index medicus (ถ้าเป็นภาษาไทยให้ใช้ชื่อเต็ม)                 ปี ค.ศ. หรือ พ.ศ.; ปีที่ หรือ volume (ฉบับที่พิมพ์หรือ issue): หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย. (โดยเลขหน้าที่ซ้ำกันไม่ต้องเขียน เช่น152 ถึงหน้า 158 ให้เขียน 152-8.)

3) อ้างอิงหนังสือตำราทั้งเล่ม

    ให้เขียนชื่อผู้เขียน. ชื่อหนังสือ. ครั้งที่พิมพ์ (ถ้าพิมพ์ครั้งแรกไม่ต้องเขียน). ชื่อเมือง (ใช้ชื่อเมืองแรกเมืองเดียว): ชื่อโรงพิมพ์; ปีพิมพ์. (ค.ศ. หรือ พ.ศ.)

4) อ้างอิงบทหนึ่งในหนังสือตำรา

    ให้เขียน ชื่อผู้เขียน.  ชื่อเรื่อง.  In: ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการ/editor (s). ชื่อหนังสือ. ครั้งที่พิมพ์              (ถ้าพิมพ์ครั้งแรกไม่ต้องเขียน). ชื่อเมือง: ชื่อโรงพิมพ์; ปีพิมพ์. (พ.ศ. หรือค.ศ.) p./หน้า หน้าแรก-หน้าสุดท้าย.

5) อ้างอิงหนังสือประกอบการประชุม/รายงานการประชุม

   ให้เขียน ชื่อบรรณาธิการ,บรรณาธิการ. ชื่อเรื่อง. ชื่อการประชุม; สถานที่จัดประชุม; เมืองที่พิมพ์: สำนักพิมพ์; ปีที่พิมพ์.

6) การอ้างอิงบทคัดย่อจากที่ประชุมวิชาการ (published proceedings paper) บทความที่นำเสนอในการประชุมหรือสรุปการประชุม

    ให้เขียน ชื่อผู้เขียน.  ชื่อเรื่อง.  ใน/In: ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการ/editor.  ชื่อการประชุม; วันเดือนปีที่ประชุม; สถานที่จัดประชุม. เมืองที่พิมพ์; ปีพิมพ์. หน้า/p. หน้าแรก - หน้าสุดท้าย.

7) การอ้างอิงรายงานทางวิชาการหรือรายงานทางวิทยาศาสตร์เอกสารที่จัดพิมพ์โดยเจ้าของทุน (issued by funding)

     ให้เขียน ชื่อผู้เขียน.  ชื่อเรื่อง. เมืองที่พิมพ์: หน่วยงาน ที่พิมพ์/แหล่งทุน; ปีที่พิมพ์. เลขที่รายงาน.

8) การอ้างอิงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

    ให้เขียนชื่อผู้แต่ง. ชื่อบทความ[ประเภทสื่อ]. ปีพิมพ์[เข้าถึงเมื่อ วันที่ เดือน(ย่อ) ปี /cited ปี เดือน (ย่อ) วัน]. เข้าถึงได้จาก/Available from: http://............

9) การอ้างอิงวิทยานิพนธ์

                    ให้เขียนชื่อผู้นิพนธ์. ชื่อเรื่อง [ประเภทปริญญา]. เมือง: มหาวิทยาลัย; ปีที่ได้รับปริญญา.

กรณีเอกสารที่ใช้อ้างอิงต้นฉบับเป็นภาษาไทย แต่ถ้าผู้นิพนธ์จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ให้ใช้รูปแบบการเขียนแบบอ้างอิงภาษาอังกฤษ และให้วงเล็บท้ายเอกสารว่า (in Thai)

 

  1. 2. บทความวิชาการ (Academic article) ประกอบด้วย

            2.1 ชื่อเรื่อง เช่นเดียวกับบทความวิจัย

            2.2 บทคัดย่อ ต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยภาษาไทยขึ้นก่อน เนื้อหาต้องมีความสมบูรณ์ในตัวเอง โดยเขียนให้ได้ใจความ มีความยาวไม่เกิน 400 คำ ประกอบด้วย บทนำ วัตถุประสงค์ สรุป และคำสำคัญ (3 - 5 คำ) โดยหัวข้อทำตัวหนา แต่เนื้อหาไม่ต้องทำตัวหนา

            2.3 เนื้อเรื่อง  หัวข้อหลักควรประกอบด้วย บทนำ เนื้อหา บทสรุป และเอกสารอ้างอิง

                  - กรณีถ้ามีตารางหรือรูปภาพ เช่นเดียวกับบทความวิจัย

                  - เอกสารอ้างอิง เช่นเดียวกับบทความวิจัย

  1. 3. บทความฟื้นฟูวิชาการ (Review article) ประกอบด้วย

3.1 ชื่อเรื่อง เช่นเดียวกับบทความวิจัย

3.2 บทคัดย่อ ต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยภาษาไทยขึ้นก่อน เนื้อหาต้องมีความสมบูรณ์ในตัวเองโดยเขียนให้ได้ใจความ มีความยาวไม่เกิน 400 คำประกอบด้วย วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการศึกษา  ผลการศึกษา สรุป และคำสำคัญ (3-5 คำ) โดยหัวข้อทำตัวหนา แต่เนื้อหาไม่ต้องทำตัวหนา

3.3 เนื้อเรื่อง  หัวข้อหลักควรประกอบด้วย บทนำ เนื้อหา บทสรุป และเอกสารอ้างอิง

      - กรณีถ้ามีตารางหรือรูปภาพ เช่นเดียวกับบทความวิจัย

      - เอกสารอ้างอิง เช่นเดียวกับบทความวิจัย

  1. รายงานผู้ป่วย (Case report) ประกอบด้วย

4.1 ชื่อเรื่อง เช่นเดียวกับบทความวิจัย

4.2 บทคัดย่อ ต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยภาษาไทยขึ้นก่อน มีความยาวไม่เกิน 300 คำ ประกอบด้วย บทสรุปของผลการรายงาน (มีความสมบูรณ์และได้ใจความตามสิ่งที่ต้องการนำเสนอ)
และคำสำคัญ (3-5 คำ) โดยหัวข้อทำตัวหนา แต่เนื้อหาไม่ต้องทำตัวหนา

4.3 เนื้อเรื่อง หัวข้อหลักควรประกอบด้วย บทนำ รายงานผู้ป่วย วิจารณ์ สรุป และเอกสารอ้างอิง

      - กรณีถ้ามีตารางหรือรูปภาพ เช่นเดียวกับบทความวิจัย

      - เอกสารอ้างอิง เช่นเดียวกับบทความวิจัย

  1. บทความปกิณกะ (Miscellany article)

             5.1 ชื่อเรื่อง เช่นเดียวกับบทความวิจัย

             5.2 เนื้อเรื่อง มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชื่อบทความที่นำเสนอ กรณีถ้ามีตารางหรือรูปภาพหรือเอกสารอ้างอิง เช่นเดียวกับบทความวิจัย

 

การแก้ไขบทความเพื่อส่งตีพิมพ์

  1. ผู้นิพนธ์ส่งกลับให้กองบรรณาธิการภายในระยะเวลาที่กองบรรณาธิการกำหนด กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการให้แจ้งกองบรรณาธิการพร้อมเหตุผล
  2. ผู้นิพนธ์แก้ไขและอธิบายข้อสงสัยตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิและ/หรือกองบรรณาธิการให้ข้อเสนอแนะให้ครบทุกประเด็น และระบุว่าได้แก้ไขประเด็นใดบ้าง รวมทั้งอธิบายประเด็นที่ไม่ได้แก้ไขเพราะเหตุใด

             

 การถอดถอนบทความจากการตีพิมพ์ กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการถอนบทความ  ดังนี้

  1. ผู้นิพนธ์ ไม่แก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิและ/หรือกองบรรณาธิการโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม
  2. ผู้นิพนธ์ไม่ส่งบทความที่แก้ไขตามระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่แจ้งกองบรรณาธิการหรือไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม
  3. ผู้นิพนธ์มีการละเมิดเกณฑ์ข้อกำหนดตามที่ยืนยันและรับทราบในแบบฟอร์มส่งบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

หมายเหตุ กองบรรณาธิการจะแจ้งผู้นิพนธ์รับทราบและกำหนดระยะเวลาก่อนการดำเนินการถอดถอนบทความ

การตอบรับหรือปฏิเสธบทความ  จะทราบผลได้ในแต่ละขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

  1. พิจารณาจากบทความว่า อยู่ในขอบเขตของวารสารหรือไม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ผู้นิพนธ์ส่งบทความเข้ามาที่ระบบ ThaiJO ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-5 วัน
  2. ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ (reviewer) ทั้ง 2 ท่าน (กรณีที่มีความคิดเห็นต่างกันจะต้องผ่านการพิจารณาท่านที่ 3) (ขั้นตอนนี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการแก้ไขบทความของผู้นิพนธ์) ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน
  3. ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ (reviewer) หรือบรรณาธิการ หลังผู้นิพนธ์ได้ผ่านกระบวนการแก้ไขบทความแล้ว ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน

หมายเหตุ ระยะเวลาอาจนานกว่าที่ประมาณไว้ ถ้าผู้นิพนธ์ดำเนินการแก้ไขต้นฉบับเบื้องต้น (ปรับรูปแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์ของวารสารก่อนส่งผู้ทรงคุณวุฒิ) ล่าช้ากว่าที่กำหนด

การตอบรับการตีพิมพ์ การออกหนังสือตอบรับมี 2 กรณี
1) การตอบรับฉบับสมบูรณ์ จะออกให้เมื่อบทความผ่านกระบวนการแก้ไขแล้วเสร็จตามข้อเสนอแนะของผู้ประเมินบทความและกองบรรณาธิการครบถ้วนแล้ว (อาจมีการแก้ไขส่งไปกลับได้หลายครั้ง)
2) การตอบรับแบบมีเงื่อนไข โดย กอง บก. จะขอสงวนสิทธิ์ในการถอดถอนบทความกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำชี้แจงในการส่งบทความ เช่น ไม่แก้ไขตามที่ผู้ประเมินบทความและกองบรรณาธิการแนะนำโดยไม่ชี้แจงและให้เหตุผลที่เหมาะสม ไม่ส่งบทความที่แก้ไขกลับมาในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหนังสือตอบรับนี้จะออกเมื่อบทความผ่านกระบวนการ review ของผู้ประเมินครบทุกท่านแล้ว (โดยผู้ประเมินให้ข้อคิดเห็นว่า Acceptable for publication หรือ Acceptable for publication with some correction as follows… เท่านั้น)