การศึกษาประสิทธิผลของการบริหารจัดการการลงทุน เพื่อพัฒนาระบบบริการตติยภูมิขั้นสูง (Excellence Center) ด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลสุรินทร์

Main Article Content

ณัฐรดา ทองสุทธิ์

บทคัดย่อ

บทนำ: โรคหัวใจเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของประชากร การพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านโรคหัวใจในระบบการให้บริการตติยภูมิขั้นสูง (excellence center) ซึ่งสามารถให้การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด สวนหัวใจและผ่าตัดหัวใจ รวมถึงการพัฒนางานด้านการวิจัย ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานที่สูงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการลงทุนเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผล ประเมินปัญหา อุปสรรคของการบริหารจัดการการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบบริการตติยภูมิขั้นสูงด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลสุรินทร์
รูปแบบการศึกษา: เป็นการวิจัยประเมินผล (Evaluation Research)
วิธีการศึกษา: ใช้แบบจำลองการประเมินแบบซิบของสตัฟเฟิลบีม ซึ่งเป็นการประเมิน 4 มิติ คือ การประเมินสภาวะแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต ศึกษาผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดใน โรงพยาบาลสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561
ผลการศึกษา: ในการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิขั้นสูงด้านโรคหัวใจโรงพยาบาลสุรินทร์ ได้มีการจัดสรรงบประมาณตามแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2561 ตามเกณฑ์มาตรฐานการให้บริการโรคหัวใจใน 3 ส่วน ได้แก่ การพัฒนาการให้บริการด้านการดูแลรักษา การขยายหลอดเลือดหัวใจ และการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งพบว่าการพัฒนาเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน การให้บริการด้านโรคหัวใจ ส่วนตัวชี้วัดผลผลิตการพัฒนามีแนวโน้มที่ดีขึ้น คือ ผลการศึกษา ตัวชี้วัดผลผลิตในการดำเนินงาน พบว่า ในปี พ.ศ. 2559 ถึงปี พ.ศ. 2561 มีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเข้ารับบริการจำนวน 3,940 ราย 4,021 ราย และ 4,215 รายตามลำดับ เป็นผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (STEMI) จำนวน 224 ราย 202 ราย และ 246 ราย ตามลำดับ ผู้ป่วยได้รับการสวนหัวใจในปี พ.ศ. 2560 ถึงปี พ.ศ. 2561 จำนวน 235 และ 210 ราย ตามลำดับ จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อเพื่อสวนหัวใจลดลงจาก 198 รายในปี พ.ศ. 2559 เป็น 0 รายในปี พ.ศ. 2560 และปี พ.ศ. 2561 อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลดลงจากร้อยละ 15.1 ในปี พ.ศ. 2558 เป็นร้อยละ 12.1 และ ร้อยละ 10.9 ในปี พ.ศ. 2560 และปี พ.ศ. 2561
สรุป: การลงทุนเพื่อพัฒนาระบบริการตติยภูมิขั้นสูงด้านโรคหัวใจส่งผลให้การจัดระบบบริการมีประสิทธิภาพ ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการการรักษาที่มาตรฐาน ลดอัตราการส่งต่อและการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้
คำสำคัญ: ตติยภูมิด้านโรคหัวใจ การประเมินแบบซิบ การลงทุน

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ

References

สำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) พ.ศ. 2561-2565. นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2559.

เกรียงไกร เฮงรัศมี. สถานการณ์ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตายชนิดที่มี ST-Elevation ในประเทศไทย. มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน. กรุงเทพฯ : สุขุมวิทการพิมพ์ จำกัด, 2555.

ภัทราพร จงพิพัฒน์วณิชย์. แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด กระทรวงสาธารณสุข : แนวทาง ผล ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะวิธีแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงาน. พุทธชินราชเวชสาร, 2556;30(1):31-41.

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. แนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในประเทศไทย ฉบับปรับปรุง ปี 2557. กรุงเทพฯ : ศรีเมืองการพิมพ์; 2557.

พัชราภรณ์ อุ่นเตจ๊ะ. โครงการประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดเอสทียกสูง (STEMI) เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน. รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ; 2554.

เกวลิน ชื่นเจริญสุข. แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) พ.ศ. 2561-2565. นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2559.

สำนักงานตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. บทสรุปผู้บริหาร Service Plan สาขาโรคหัวใจรอบที่ 1 ปีงบประมาณ 2560. [อินเตอร์เน็ต]. [สืบค้นวันที่ 28 พฤษภาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก: URL:https://drive.google.com/drive/u/0/folders.

พรเพ็ญ ทุนเทพย์. การพัฒนารูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรงพยาบาลสุรินทร์. วารสารการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ 2554;26(2):247-61.