การพัฒนารูปแบบการพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินระดับ 3 (Urgent) ในงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลบุรีรัมย์
Main Article Content
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: ผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วน (Urgency) เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการเจ็บป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันมากหรือเจ็บป่วยรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการประเมิน การจัดการและการบำบัดรักษาอย่างเร่งด่วน อุบัติการณ์ผู้ป่วยทรุดลงระหว่างการรักษาปีงบประมาณ 2561-2562 สาเหตุพบว่ามีการประเมินที่ไม่ครอบคลุมและขาดความต่อเนื่องซึ่งทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยรุนแรงขึ้นเกิดภาวะแทรกซ้อนส่งผลให้เสียชีวิตในระยะต่อมา
วัตถุประสงค์: เพื่อพัฒนารูปแบบการพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วน และเปรียบเทียบผลลัพธ์การพัฒนารูปแบบการพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วน
รูปแบบวิจัย: เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ในหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564
วิธีการศึกษา: ดำเนินการวิจัย 4 ระยะ ระยะที่ 1 เตรียมการและวิเคราะห์สถานการณ์ ศึกษาข้อมูลสังเกตการปฏิบัติงาน สอบถามและสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานและผู้รับบริการ ทบทวนเวชระเบียน และทบทวนอุบัติการณ์ ระยะที่ 2 สร้างและพัฒนารูปแบบการพยาบาล โดยศึกษาเอกสารวิชาการ ผลงานวิจัย แล้วถอดบทเรียนนำแนวปฏิบัติที่ดีร่างรูปแบบการพยาบาลแล้วนำไปทดสอบ ระยะที่ 3 นำรูปแบบการพยาบาลลงสู่การปฏิบัติ และระยะที่ 4 สรุปและประเมินผลการพัฒนารูปแบบการพยาบาล โดยประเมินผลการใช้รูปแบบการพยาบาลและความเป็นไปได้ของการนำไปใช้ กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วน จำนวน 41 คน พยาบาลวิชาชีพและนักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ จำนวน 39 คน ทีมพัฒนาคุณภาพการบริการ จำนวน 10 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 2 ส่วน (1) เครื่องมือในการดำเนินการ ได้แก่ แนวปฏิบัติการพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วนและคู่มือประกอบการใช้ การมอบหมายงานแบบรายกรณีผู้ป่วยและการนิเทศ และแบบบันทึกทางการพยาบาล (2) เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดความพึงพอใจในการใช้รูปแบบการพยาบาลและแบบประเมินความสามารถในการนำแนวปฏิบัติทางการพยาบาลไปใช้ ตรวจสอบเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน พบว่าทุกข้อคำถามมีค่าดัชนีความสอดคล้องมากกว่า 0.5 แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขและวิเคราะห์หาความเชื่อมั่นของแบบสอบถามได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.7 และ 0.9 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบ Paired t- test และ Chi square test
ผลการศึกษา: รูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วน ได้แก่ 1) จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ตามส่วนขาด โดยจัดทำแบบประเมินความรู้และทักษะเจ้าหน้าที่ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร 2) จัดทำแนวปฏิบัติการพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วน แนวทางการเฝ้าระวังอาการสำคัญที่นำไปสู่ภาวะคุกคามชีวิต (early warning signs) ในกลุ่มโรคความเสี่ยงสูง 3) การมอบหมายงานและการนิเทศ โดยใช้การมอบหมายงานการพยาบาลแบบรายกรณี การนิเทศและสอนงานโดยหัวหน้าทีม 4) การบันทึกทางการพยาบาลแบบ Focus Charting ได้ผลดีทั้งในด้านผลลัพธ์ของผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติ พบว่าอัตราผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงระหว่างการรักษาและอัตราผู้ป่วยกลับมารักษาซ้ำด้วยอาการหรือโรคเดิมภายใน 48 ชั่วโมงหลังจำหน่ายลดลงแตกต่างกันกว่าก่อนการใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผู้ปฏิบัติพึงพอใจต่อรูปแบบที่พัฒนาขึ้นใหม่มากกว่าแบบเดิมในด้านความพร้อม ความถูกต้อง ความชัดเจน ความรวดเร็วและง่ายต่อการนำไปใช้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผู้ปฏิบัติมีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 89.7 และสามารถนำแนวปฏิบัติทางการพยาบาลไปใช้โดยรวมร้อยละ 98.5 สรุปได้ว่าการพัฒนารูปแบบการพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วน มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริง ให้ผลลัพธ์ที่ดีซึ่งสะท้อนคุณภาพการดูแลที่ดีขึ้น
สรุป: การพัฒนารูปแบบการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเร่งด่วน ทำให้ผู้ปฏิบัติมีแนวทางในการตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่ป้องกันได้น้อยลง หรือทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
คำสำคัญ: การพัฒนารูปแบบการพยาบาล ผู้ป่วยเจ็บป่วยเร่งด่วน อุบัติเหตุและฉุกเฉิน
Article Details
References
มาลี คำคง. การพัฒนาพยาบาลสู่คุณภาพการบริการในงานอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน. วารสารวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้ 2557;1(1):77-84.
จารุพักตร์ กัญจนิตานนท์, สุขาตา วิภากานต์, รัตนา พรหมบุตร. การพัฒนารูปแบบการพยาบาล ผู้บาดเจ็บรุนแรงหลายระบบ โรงพยาบาลกระบี่. วารสารพยาบาลทหารบก 2562;20(1):339-50.
ฐิรพร อัศววิศรุต,สมใจ พุทธาพิทักษ์ผล, รุ้งรังษี วิบูลย์ชัย. การพัฒนารูปแบบการมอบหมายงานในหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลยโสธร. วารสารกองการพยาบาล 2557;41(2):54-71.
นันทิยา รัตนสกุล, กฤตยา แดงสุวรรณ. การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะคุกคามชีวิตในงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 2559;8(2):1-15.
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ. คู่มือแนวทางการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินและจัดลำดับการบริบาล ณ ห้องฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ที่ กพฉ. กำหนด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ); 2556.
So SN, Ong CW, Wong LY, Chung JY, Graham CA. Is the Modified Early Warning Score able to enhance clinical observation to detect deteriorating patients earlier in an Accident & Emergency Department?. Australas Emerg Nurs J. 2015 Feb;18(1):24-32.
von Bertalanffy L., Rapaport A. General Systems: Yearbook of the Society for the Advancement of General Systems Theory. Vol. I 1956. Br J Philos Sci 1958;9(34):170-1.
ธีรวุฒิ เอกะกุล. ระเบียบวิธีวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 1. อุบลราชธานี : คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี; 2542.
พะนอ เตชะอธิก, สุนทราพร วันสุพงศ์, สุมนา สัมฤทธิ์รินทร์. ผลการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพยาบาลผู้บาดเจ็บที่หน่วยผู้ป่วยนอกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน. วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ 2554;34(3):65-74.
Likert R. A technique for the measurement of attitudes. Arch Psychol 1932;22(140): 55.
Joseph CL. Essential of Psychology and Education. New York: Mc–Graw Hill: 1984.
รัฐพงษ์ บุรีวงษ์, บรรณาธิการ. MOPH ED Triage. นนทบุรี : สำนักวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2561.
Lampe S. Focus charting: A Patient-centered approach. Minnesota: Eitel Hospital; 1982.
พจนีย์ ธีระกุล, กัญญดา ประจุศิลป. ผลของการใช้แบบบันทึกทางการพยาบาลแบบ Focus charting ต่อคุณภาพการพยาบาลตามการรับรู้ของผู้ป่วยและความพึงพอใจในการใช้แบบบันทึกทางการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพ. วารสารพยาบาลทหารบก 2560;18(ฉบับพิเศษ):257-65.
เพ็ญศรี ดำรงจิตติ, รสสุคนธ์ ศรีสนิท, พรเพ็ญ ดวงดี. การพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บรุนแรงในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร. วารสารพยาบาลสาธารณสุข 2557;28(1):43-54.
อัญชลี ถิ่นเมืองทอง, อรทัย ศิลป์ประกอบ, ศรีวรรณ มีบุญ, เยาวรัตน์ รุ่งสว่าง. การพัฒนาระบบการพยาบาลผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุทางถนน ในโรงพยาบาลปทุมธานี. วารสารกองการพยาบาล 2559;41(3): 5-24.
สายสุดา ปั้นตระกูล. การจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนของผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและผู้เรียนปกติ. วารสารร่มพฤกษ์ มหาวิทยาลัยเกริก 2563;38(2):36-48.