ผลการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยที่ใช้ยาลิเทียม คลินิกจิตเวช โรงพยาบาลศรีสะเกษ

Main Article Content

ณภัคอร ช่วงสกุล

บทคัดย่อ

หลักการและเหตุผล: ลิเทียมเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะคุ้มคลั่งเฉียบพลัน และใช้รักษาระยะยาวในโรคอารมณ์สองขั้ว ปัญหาการใช้ยาลิเทียมที่พบได้บ่อย คือ การให้ผลการรักษาที่ค่อนข้างช้า มีผลข้างเคียงของยามาก และมีค่าดัชนีในการรักษาแคบ จากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับยาลิเทียมของโรงพยาบาลศรีสะเกษที่ผ่านมาพบรายงานการเกิดภาวะลิเทียมเป็นพิษ และผู้ป่วยบางรายมีระดับยาลิเทียมในเลือดต่ำกว่าขนาดการรักษา ดังนั้นเภสัชกรควรให้ความสำคัญในการให้ข้อมูลการใช้ยาและติดตามการใช้ยาลิเทียมแก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่อาจเกิดจากการใช้ยาลิเทียม ลดการเกิดภาวะเป็นพิษจากยาลิเทียม และเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยที่ใช้ยาลิเทียมในคลินิกจิตเวช โรงพยาบาลศรีสะเกษ
สถานที่ทำการศึกษา: คลินิกจิตเวช โรงพยาบาลศรีสะเกษ
วิธีการศึกษา: การวิจัยแบบกึ่งทดลอง ทดสอบก่อน-หลัง ไม่มีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับยาลิเทียม ที่มารับบริการคลินิกจิตเวช โรงพยาบาลศรีสะเกษ จำนวน 40 ราย เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาลิเทียม ใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Pair t-test
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างส่วนมากเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 80) มีอายุอายุเฉลี่ย 32.3 ปี และเป็นผู้ป่วยรายเดิมที่เคยได้รับยาลิเทียม (ร้อยละ 90) ไม่มีภาวะโรคร่วม (ร้อยละ 87.5) ขนาดการใช้ยาลิเทียมเฉลี่ย 667.5 mg มียาชนิดอื่นที่ใช้ร่วมกันเฉลี่ย 5.3 รายการ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม พบว่าคะแนนรวมเฉลี่ยการทดสอบความรู้เรื่องการใช้ยาลิเทียมของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.85±0.95, และ 7.98±1.12 ตามลำดับ, p-value < 0.001) และคะแนนทดสอบเฉลี่ยในแต่ละข้อก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน (p-value < 0.001) ผู้ป่วยร้อยละ 70 มีความร่วมมือในการใช้ยาลิเทียมในระดับดี ผลการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา พบว่ามีผู้ป่วย 1 ราย (ร้อยละ 2.5) มีอาการใจสั่น มือสั่น มีรายงานการใช้ยาลิเทียมร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs ที่อาจจะมีผลทำให้ระดับยาลิเทียมในเลือดเพิ่มขึ้น จำนวน 7 ราย (ร้อยละ 17.8) พบรายงานการใช้ลิเทียมร่วมกับยา Enalaprilในผู้ป่วย 1 ราย ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น มือสั่นคลื่นไส้อาเจียน และความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
สรุป: ผลการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยที่ใช้ยาลิเทียมในการศึกษานี้ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้และความร่วมมือในการใช้ยาเพิ่มขึ้น สามารถลดและป้องอาการข้างเคียงหรือปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยจากการใช้ยา
คำสำคัญ: ยาลิเทียม การบริบาลทางเภสัชกรรม โรคอารมณ์สองขั้ว

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ

References

ณัฏฐพล สัมประสิทธิ์, วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์. ผลลัพธ์ของการบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยจิตเวช: การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข 2561;12(4):590-607.

Gitlin MJ, Cochran SD, Jamison KR. Maintenance lithium treatment: side effects and compliance. J Clin Psychiatry 1989;50(4):127-31.

ธรัลหทัย วิริยะสิริสกุล, ฐชานันท์ อิสริยะชัยกุล, จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์, สายทิพย์ สุทธิรักษา. ผลการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยนอกโรคจิตเภท: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม. วารสารเภสัชกรรมไทย 2559;8(2): 377-87.

นคร ถนอมเสียง. การคำนวณขนาดตัวอย่าง. [อินเตอร์เน็ท] 2561. [สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2564]. ค้นได้จาก: URL:https://home.kku.ac.th/nikom/516201_sample_size_nk2561.pdf.

Singh M. Effectiveness of teaching plan on knowledge, for patients on lithium carbonate therapy at selected psychiatric centre of Jaipur City. Paper presented at: 3ICMRP-2016 Conference Proceeding; 2016 Dec 24; Ahmedabad Gujarat, India.

พรทิพย์ เกยุรานันท์, วรางคณา ผลประเสริฐ, บรรณาธิการ.สถิติและการวิจัยในการจัดการสุขภาพ.กรุงเทพมหานคร : เอเอ็นที ออฟฟิศ เอ็กซ์เพรส จำกัด; 2557.

อรพรรณ ณัฐพูลวัฒน์, กรกนก เกิดผล, นฤมล จงจิตร์วิบูลย์ผล, จันทร์พร ก้องวัชรพงศ์. ผลการให้คำแนะนำโดยเภสัชกรในผู้ป่วยนอกที่ได้รับยาลิเทียมจากหน่วยตรวจจิตเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง. วารสารเภสัชกรรมไทย 2563; 11(4): 850-9.

Hongsing D, Pongpunna S. Survey of the interactionof other drugs with lithium and analysis of patients’slithium knowledge in Prasrimahabhodi Psychiatric hospital UbonRatchathani [dissertation]. UbonRatchathani : UbonRatchathani University; 2011.

Suanchang O, Suthisisang C, Visanuyothin T, Skawatananont C. Development and evaluation of a pharmaceutical care process in patients with bipolar disorder at outpatient lithium clinic of SomdetChaopraya Hospital.[Internet] 2002. [cited 2021 may 25]. Available from : URL: http://www.thaithesis.org/ detail.php?id=46400.